วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โปรดอ่าน

ขอขอบคุณ อาจารย์จัตวา อรจุล สาขาวิชาพลานามัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษา สำหรับกลุ่มข้าพเจ้า
พวกเรานักเรียนช้ันมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์
จากบทความนี้ไมมากก็น้อย
ขอบคุณครับ :))

เอกสารอ้างอิง

http://www.youtube.com/watch?v=9vSWvm2I8cg
http://atiya-trauma.blogspot.com/2009/07/blog-post_2282.html
http://202.143.145.50/web10/index.php?option=com_content&task=view&id=76&Itemid=179

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การใช้ผ้าพันแผล

การพันแผล(Bandaging)

เมื่อเกิดการบาดเจ็บจากกระดูกหัก หรือมีบาดแผลตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย การพันผ้าก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ใช้ในการปฐมพยาบาลเพื่อร่วมกับการดามอวัยวะที่หัก หรือ พันแผลก่อนนำส่งโรงพยาบาล

ชนิดของผ้าพันแผลที่ใช้ในการปฐมพยาบาล แบ่งกว้าง ๆ ได้ 2 ชนิด

1. ผ้าพันแผลชนิดเป็นม้วน แบ่งเป็นชนิดธรรมดา (Roll gauze bandage) และ ชนิดผ้ายืด (Elastic bandage)
2. ผ้าสามเหลี่ยม (Triangular bandage) เป็นผ้าสามเหลี่ยมมีฐานกว้าง และด้านประกอบสามเหลี่ยมยาว 36-40 นิ้ว

ประโยชน์ของผ้าพันแผล ใช้ห้ามเลือด, ป้องกันการติดเชื้อ,พันเฝือกในรายกระดูกหัก,ใช้ยึดผ้าปิดแผลให้อยู่กับที่หลักทั่วไปในการพันผ้า
1. ก่อนพันผ้าทุกครั้ง ผ้าที่พันต้องม้วนให้เรียบร้อย ไม่หลุดลุ่ย
2. จับผ้าด้วยมือข้างที่ถนัด โดยหงายม้วนผ้าขึ้น
3. วางผ้าลงบริเวณที่ต้องการพัน พันรอบสัก 2-3 รอบ เมื่อเริ่มต้น และสิ้นสุดการพัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าคลายตัวหลุดออก
4. พันจากส่วนปลายไปหาส่วนโคน หรือ พันจากข้างล่างขึ้นข้างบน หรือ พันจากส่วนเล็กไปหาส่วนใหญ่
5. เมื่อสิ้นสุดการพัน ควรผูกหรือใช้เข็มกลัดหรือติดพลาสเตอร์ให้เรียบร้อย แต่ไม่ให้ทับบริเวณแผล
6. การใช้ผ้ายืดต้องระวังการรัดแน่นจนเกินไป จนเลือดเดินไม่สะดวกและกดทับเส้นประสาท สังเกตได้จากการบวม สีผิวซีด ขาว และเย็น พร้อมทั้งผู้บาดเจ็บจะบอกถึงอาการปวดและชา
7. ถ้ามีอาการปวดและชา บริเวณที่พันผ้า ให้รีบคลายผ้าที่พันไว้ออกแล้วจึงพันใหม่


ลักษณะต่างๆ ของการพันผ้าพันแผลชนิดม้วนและวิธีทำ
1. การพันรอบหรือพันเป็นวงกลม (Circular turns) เป็นการพันรอบที่ใช้กับส่วนที่เป็นวงกลม และมักใช้เป็นจุดเริ่มต้นและจุดจบของการพันผ้าพันแผลชนิดม้วนลักษณะอื่น ๆ อวัยวะที่เหมาะสำหรับการพันรอบ เช่น รอบศีรษะ รอบนิ้วมือ รอบข้อมือ เป็นต้น

2. การพันเป็นเกลียว (Spiral turns) เป็นการพันกับอวัยวะที่ยาว เช่น ต้นแขน ต้นขา หน้าแข้ง ลำตัว เป็นต้น

3. การพันรูปเลขแปด (Figure of eight turns) เป็นการพันอวัยวะที่เป็นส่วนของข้อ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อสะโพก ข้อศอก และหัวไหล่ เป็นต้น
การใช้ผ้าสามเหลี่ยม (Triangular bandages)
การใช้ผ้าสามเหลี่ยม เมื่อมีบาดแผลต้องใช้ผ้าพันแผล ซึ่งขณะนั้นมีผ้าสามเหลี่ยม สามารถใช้ผ้าสามเหลี่ยมแทนผ้าพันแผลได้ โดยพับเก็บมุมให้เรียบร้อย และก่อนพันแผลต้องพับผ้าสามเหลี่ยมให้มีขนาดเหมาะสมกับบาดแผลและอวัยวะที่ใช้พัน
1. การคล้องแขน (Arm sling) ในกรณีที่มีกระดูกต้นแขนหัก หรือกระดูกปลายแขนหัก เมื่อตกแต่งบาดแผลและเข้าเฝือกชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว จะคล้องด้วยผ้าสามเหลี่ยม
2. การพันศีรษะ ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่าใช้ผ้าพันแผลชนิดม้วน
3. การพันมือ ใช้กรณีที่มีบาดแผลที่มือ

การปฐมพยาบาลการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา


การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบ บางชนิดนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนสามารถรักษาพยาบาลกันเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางแพทย์แต่อย่างใด การปฐมพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะแม้จะเป็นบาดเจ็บที่ต้องรับการรักษาจากแพทย์ แต่ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีก่อนที่จะมีแพทย์มาดู หรือไปถึงมือแพทย์ก็จะสามารถแบ่งเบาภาระของแพทย์ทำให้การักษาง่ายขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ผิดวิธี อาจทำให้บาดเจ็บน้อยกลายเป็นบาดเจ็บมากและรักษาได้ยากขึ้น ดังมีตัวอย่างเสมอในบ้านเรา ซึ่งไม่สามารถจะมีแพทย์ประจำสนามได้ทุกครั้งที่มีการฝึกซ้อมหรือแข่งขัน เพื่อให้นักกีฬาและผู้ฝึกสอนสามารถให้การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องได้เองเมื่อประสบอุบัติเหตุได้รับ จะขอกล่าวถึงบาดเจ็บเฉพาะที่พบบ่อย ๆ และการปฐมพยาบาลเท่าที่สามารถทำได้เองเป็นข้อ ๆ ไป

ตะคริวเป็นบาดเจ็บไม่รุนแรงซึ่งนับได้ว่าพบบ่อยที่สุด 




- ตัวอย่างกล้ามเนื้อน่องซึ่งทำหน้าที่เหยียดปลายเท้าขณะเป็นตะคริวจะหดเกร็งและทำให้ปลายเท้าเหยียด การใช้กำลังดันปลายเท้าเข้าหาเข่า โดยค่อย ๆ เพิ่มกำลังดัน 


- จะช่วยเหยียดกล้ามเนื้อน่องได้ การใช้ของร้อนประคบหรือถูนวดเบา ๆ จะช่วยให้เลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อคลายและมีกำลังยืดหดได้อีก ถ้าเป็นพร้อมกันหลายแห่ง สาเหตุมักเกิดจากการขาดน้ำ, อาหาร, เกลือแร่ในกล้ามเนื้อ การให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วย ให้น้ำผสมเกลือแกงดื่มเป็นระยะ ๆ


ฟกช้ำ เคล็ด, แพลง

การปฐมพยาบาล ใช้ของเย็นประคบบริเวณที่ถูกกระแทกอย่าเพิ่งถูนวด ถ้าเป็นบริเวณที่ติดกับกระดูก เช่น หน้าแข้ง, หนังศีรษะ อาจใช้ผ้าพันให้แน่น หลัง 24 ชั่วโมงแล้วจึงใช้ของร้อนและถูนวดเบา ๆ ได้ 


 


กล้ามเนื้อฉีก
การปฐมพยาบาล




- ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่พักกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บให้มากที่สุด ถ้ามีปลาสเตอร์ก็ใช้ติดจากส่วนบนของกล้ามเนื้อมายังส่วนล่างหลาย ๆ ชิ้น แล้วพาดขวางอีกหลาย ๆ ชิ้น


- แล้วใช้ผ้ายึดรัดอีกชั้นหนึ่ง การใช้ของเย็นประคบใน 24 ชั่วโมงแรก ช่วยไม่ให้มีเลือดออกมากในกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นต้องพักการใช้กล้ามเนื้อนั้นจนไม่มีความเจ็บปวดอีก จึงเริ่มให้ออกกำลังเบา ๆ ในระดับที่ไม่มีความเจ็บปวด และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

 การปฐมพยาบาลเมื่อมีแมลงและสัตว์มีพิษกัดต่อย
                1.  แมลง
                แมลงหลายชนิดมีเหล็กใน  เช่น  ผึ้ง  ต่อ  แตน  เป็นต้น  เมื่อต่อยแล้วมักจะทิ้งเหล็กในไว้  ภายในเหล็กในจะมีพิษของแมลงพวกนี้มักมีฤทธิ์ที่เป็นกรด  บริเวณที่ถูกต่อยจะบวมแดง  คันและปวด  อาการปวดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต่อยและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
                วิธีปฐมพยาบาล
                1.  พยายามเอาเหล็กในออกให้หมด  โดยใช้วัตถุที่มีรู  เช่น  ลูกกุญแจ  กดลงไปตรงรอยที่ถูกต่อย  เหล็กในจะโผล่ขึ้นมาให้คีบออกได้
                2.  ใช้ผ้าชุบน้ำยาที่ฤทธิ์ด่างอ่อน  เช่น  น้ำแอมโมเนีย  น้ำโซดาไบคาบอร์เนต  น้ำปูนใส  ทาบริเวณแผลให้ทั่วเพื่อฆ่าฤทธิ์กรดที่ค้างอยู่ในแผล
                3.  อาจมีน้ำแข็งประคบบริเวณที่ถูกต่อยถ้าแผลบวมมาก
                4.  ถ้ามีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวด  ถ้าคันหรือผิวหนังมีผื่นขึ้นให้รับประทานยาแก้แพ้
                5.  ถ้าอาการไม่ทุเลาลง  ควรไปพบแพทย์
                2.  แมงป่องหรือตะขาบ
                ผู้ที่ถูกแมงป่องต่อยหรือตะขาบกัด  จะมีอาการเจ็บปวดมากกว่าแมลงชนิดอื่น  เพราะแมงป่องและตะขาบมีพิษมากกว่า  บางคนที่แพ้สัตว์ประเภทนี้อาจมีอาการปวดและบวมมาก  มีไข้สูง  คลื่นไส้  บางคนมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและมีอาการชักด้วย
                วิธีปฐมพยาบาล
                1.  ใช้สายรัดหรือขันชเนาะเหนือบริเวณเหนือบาดแผล  เพื่อป้องกันไม่ให้พิษแพร่กระจายออกไป
                2.  พยายามทำให้เลือดไหลออกจากบาดแผลให้มากที่สุด  อาจทำได้หลายวิธี  เช่น  เอามือบีบ  เอาวัตถุที่มีรูกดให้แผลอยู่ตรงกลางรูพอดี  เลือดจะได้พาเอาพิษออกมาด้วย
                3.  ใช้แอมโมเนียหอมหรือทิงเจอร์ไอโอดี 2.5%  ทาบริเวณแผลให้ทั่ว
                4.  ถ้ามีอาการบวม  อักเสบและปวดมาก  ใช้ก้อนน้ำแข็งประคบบริเวณแผล  เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดด้วย
                5.  ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลง  ต้องรีบนำส่งแพทย์
                3.  แมงกะพรุนไฟ
                แมงกะพรุนไฟเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง  ซึ่งมีสารพิษอยู่ที่หนวดของมัน  แมงกะพรุนไฟมีสีน้ำตาล  เมื่อคนไปสัมผัสตัวมันจะปล่อยพิษออกมาถูกผิวหนัง  ทำให้ปวดแสบปวดร้อนมาก  ผิวหนังจะเป็นผื่นไหม้  บวมพองและแตกออก  แผลจะหายช้า  ถ้าถูกพิษมากๆ  จะมีอาการรุนแรงถึงกับเป็นลมหมดสติและอาจถึงตายได้
                วิธีการปฐมพยาบาล
                1.  ใช้ผ้าเช็ดตัวหรือทรายขัดถูบริเวณที่ถูกพิษแมงกะพรุนไฟ  เพื่อเอาพิษที่ค้างอยู่ออกหรือใช้ผักบุ้งทะเลซึ่งหาง่ายและมีอยู่บริเวณชายทะเล  โดยนำมาล้างให้สะอาด  ตำปิดบริเวณแผลไว้
                2.  ใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง  เช่น  แอมโมเนียหรือน้ำปูนใส  ชุบสำลีปิดบริเวณผิวหนังส่วนนั้นนานๆ  เพื่อฆ่าฤทธิ์กรดจากพิษของแมงกะพรุน
                3.  ให้รับประทานยาแก้ปวด
                4.  ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลง  ให้รีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว
                4.  งู
                ประเทศไทยมีงูหลายชนิด  มีทั้งงูพิษและงูไม่มีพิษ  งูพิษร้ายแรงมีอยู่ 7 ชนิด  คือ  งูเห่า  งูจงอาง  งูแมวเซา  งูกะปะ  งูสามเหลี่ยม  งูเขียวหางไหม้  และงูทะเล  พิษของงูมีลักษณะเป็นสารพิษ  งูแต่ละชนิดมีลักษณะของสารไม่เหมือนกัน  เมื่อสารพิษนี้เข้าไปสู่ร่างกายแล้วสามารถซึมผ่านเข้าไปในกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ  เกิดขึ้นในร่างกายไม่เหมือนกัน  ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะงูพิษได้ 3 ประเภท
                ลักษณะบาดแผลที่ถูกงูพิษและงูไม่มีพิษกัด
                งูพิษมีเขี้ยวยาว 2 เขี้ยว  อยู่ด้านหน้าของขากรรไกรบนมีลักษณะเป็นท่อปลายแหลมเหมือนเข็มฉีดยา  มีท่อต่อมน้ำพิษที่โคนเขี้ยว  เมื่องูกัดพิษงูจะไหลเข้าสู่ร่างกายทางรอยเขี้ยว
                ส่วนงูไม่มีพิษจะไม่มีเขี้ยว  มีแต่ฟันธรรมดาแหลมๆ  เล็กๆ  เวลากัดจึงไม่มีรอยเขี้ยว
                วิธีปฐมพยาบาล
          เมื่อแน่ใจว่าถูกงูกัด  ให้ทำการปฐมพยาบาลอย่างสุขุมรอบคอบรัดกุม  อย่าตกใจ  ให้รีบสอบถามลักษณะงูที่กัดจากผู้ป่วยและรีบทำการปฐมพยาบาลตามลำดับ  ดังนี้
                1.  ใช้เชือก  สายยาง  สายรัด  หรือผ้าผืนเล็กๆ  รัดเหนือแผลประมาณ 5-10 เซนติเมตร  โดยให้บริเวณที่ถูกรัดอยู่ระหว่างแผลกับหัวใจ  รัดให้แน่นพอสมควร  แต่อย่าให้แน่นจนเกินไป  พอให้นิ้วก้อยสอดเข้าได้  เพื่อป้องกันไม่ให้พิษงูเข้าสู่หัวใจโดยรวดเร็ว  และควรคลายสายที่รัดไว้  ควรใช้สายรัดอีกเส้นหนึ่งรัดเหนืออวัยวะที่ถูกงูกัดขึ้นไปอีกเปลาะหนึ่ง  เหนือรอยรัดเดิมเล็กน้อยจึงค่อยคลายผ้าที่รัดไว้เดิมออก  ทำเช่นนี้ไปจนกว่าจะได้ฉีดยาเซรุ่ม
                2.  ล้างบาดแผลด้วยน้ำด่างทับทิมแก่ๆ  หลายๆ  ครั้ง  และใช้น้ำแข็งหรือถุงน้ำแข็งประคบหรือวางไว้บนบาดแผล  พิษงูจะกระจายเข้าสู่ร่างกายได้ช้าลง
                3.  ให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในท่าที่บาดแผลงูพิษกัดอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ  นอนอยู่นิ่งๆ  เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด  เพื่อไม่ให้พิษงูกระจายไปตามร่างกาย  และควรปลอบใจให้ผู้ป่วยสบายใจ
                4.  ไม่ควรให้ผู้ป่วยเสพของมึนเมา  เช่น  กัญชา  สุรา  น้ำชา  กาแฟ  เพราะจะทำให้หัวใจเต้นแรง  อาจทำให้พิษงูกระจายไปทั่วร่างกายเร็วขึ้น
                5.  รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด  ถ้านำงูที่กัดไปด้วยหรือบอกชื่องูที่กัดได้ด้วยยิ่งดี  เพราะจะทำให้  เลือกเซรุ่มแก้พิษงูได้ตรงตามพิษงูที่กัดได้ง่ายยิ่งขึ้น
                การป้องกันงูพิษกัด
                1.  ถ้าต้องออกจากบ้านเวลากลางคืนหรือต้องเดินทางเข้าไปในป่าหรือทุ่งหญ้าหรือในที่รก  ควรสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าหุ้มข้อและสวมกางเกงขายาว
                2.  ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่รกเวลากลางคืนหรือเดินทางไปในเส้นทางที่น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่หากินของงู  ถ้าจำเป็นควรมีไฟส่องทางและควรใช้ไม้แกว่งไปมาให้มีเสียงดังด้วย  แสงสว่างหรือเสียงดังจะทำให้งูตกใจหนีไปที่อื่น
                3.  หากจำเป็นต้องเดินทางไปในที่มีงูชุกชุมหรือเดินทางไปในที่ซึ่งมีโอกาสได้รับอันตรายจากงูกัด  ควรระมัดระวังเป็นพิเศษและควรเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลติดมือไปด้วย
                4.  เวลาที่งูออกหากินคือเวลาที่พลบค่ำและเวลาที่ฝนตกปรอยๆ  ที่ชื้นแฉะ  งูชอบออกหากินกบและเขียด  ในเวลาและสถานที่ดังกล่าว  ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
                5.  ไม่ควรหยิบของหรือยื่นมือเข้าไปในโพรงไม้  ในรู  ในที่รก  กอหญ้า  หรือกองไม้  เพราะงูพิษอาจอาศัยอยู่ในที่นั้น
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยเป็นลม
                การเป็นลมแดด
                สาเหตุ  เกิดจากสมองมีเลือดไปเลี้ยงมากเกินไป  ซึ่งอาจเนื่องมาจากอยู่กลางแดดนานเกินไปหรือดื่มสุราขณะที่อากาศร้อนจัด  เป็นต้น
          อาการ  ใบหน้าและนัยน์ตาแดง  เวียนศีรษะ  คลื่นไส้  อาเจียน  กระหายน้ำ  หายใจถี่  ชีพจรเต้นเร็วและเบา  ผิวหนังและใบหน้าแห้ง  ตัวร้อน  ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการชักและหมดสติได้
                วิธีการปฐมพยาบาล
                1.  รีบนำผู้ป่วยเข้าในร่มที่ใกล้ที่สุด
                2.  ให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้วยกศีรษะให้สูงกว่าลำตัว
                3.  อย่าให้แอมโมเนียหรือยากระตุ้นหัวใจ  เพราะจะกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
                4.  ขยายเสื้อผ้าของผู้ป่วยให้หลวม  เพื่อให้เลือดหมุนเวียนได้สะดวก
                5.  เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้วและร่างกายเย็นมาก  ให้เอาผ้าห่อคลุมตัวให้อบอุ่นและหาเครื่องดื่มร้อนๆ  ให้ดื่มเพื่อให้ความอบอุ่นร่างกาย
                6.  ถ้าผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
การปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดแผล
                เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายถูกของมีคมหรือถูกกระแทกอาจจะทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ  ช้ำหรือฉีกขาดเป็นบาดแผลขึ้นกับตำแหน่งบาดแผล  และความรุนแรงของแรงกระแทกที่มีถึงอวัยวะภายใน  รวมทั้งชนิดของเชื้อโรคที่เข้าสู่บาดแผล  ดังนั้นเมื่อเกิดบาดแผลขึ้นต้องรีบปฐมพยาบาล  เพื่อลดอาการเจ็บปวดและป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ
                การปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดแผลหรือการทำแผลขึ้นอยู่กับลักษณะของบาดแผล  ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ  คือ  บาดแผลฟกช้ำและบาดแผลแยก
                1.  แผลฟกช้ำ
                บาดแผลฟกช้ำหรือบาดแผลเปิด  เป็นบาดแผลที่ไม่มีร่องรอยของผิวหนัง  แต่มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดบริเวณที่อยู่ใต้ผิวหนังส่วนนั้น  มักเกิดจากแรงกระแทกของแข็งที่ไม่มีคม  เช่น  ถูกชน  หกล้ม  เป็นต้น  ทำให้เห็นเป็นรอยฟกช้ำ  บวมแดงหรือเขียว
                การปฐมพยาบาล
                1.  ให้ประคบบริเวณนั้นด้วยความเย็น  เพราะความเย็นจะช่วยให้เลือดใต้ผิวหนังบริเวณนั้นออกน้อยลง  โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบหรือใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบเบาๆ  ก็ได้
                2.  ถ้าบาดแผลฟกช้ำเกิดขึ้นกับอวัยวะที่ต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ  เช่น  ข้อมือ  ข้อเท้า  ข้อศอก  เป็นต้น  ให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดเป็นม้วนที่ยืดหยุ่นได้พันรอบข้อเหล่านั้นให้แน่นพอสมควร  เพื่อช่วยให้อวัยวะที่มีบาดแผลอยู่นิ่งๆ  และพยายามอย่างเคลื่อนไหวผ่านบริเวณนั้น  เพราะจะทำให้รอยช้ำค่อยๆ  จางหายไป
                2.  แผลแยก
                บาดแผลแยกหรือบาดแผลเปิด  เป็นบาดแผลที่เกิดจากการฉีกขาดของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อจากการถูกของมีคมบาด  แทง  กรีด  หรือถูกวัตถุกระแทกแรงจนเกิดบาดแผล  มองเห็นมีเลือดไหลออกมา  บาดแผลแยกมีลักษณะแตกต่างกัน  แบ่งได้เป็น 4 ชนิด  ดังนี้
                1.  แผลถลอก
                เกิดจากผิวหนังถูกของแข็งหรือของมีคม  ขูด  ขีด  ข่วน  หรือครูด  มักเป็นบาดแผลตื้น  มีเลือดไหลซึมๆ  เช่น  หกล้มหัวเข่าถลอก  ถูกเล็บข่วน  เป็นต้น
                การปฐมพยาบาลแผลถลอก
                1.  ให้ชำระล้างบาดแผลด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด  ถ้ามีเศษหิน  ขี้ผง  ทราย  อยู่ในบาดแผลให้ใช้น้ำสะอาดล้างออกให้หมด
                2.  ใช้ปากคีบสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70%  พอหมาดๆ  เช็ดรอบๆ  บาดแผลเพื่อฆ่าเชื้อโรครอบๆ  (ไม่ควรเช็ดลงบาดแผลโดยตรง  เพราะจะทำให้เจ็บแสบมาก  เนื่องจากยังเป็นแผลสด)
                3.  ใช้สำลีชุบยาแดงหรือทิงเจอร์ใส่แผลสด (สีส้มๆ)  ทาลงบาดแผล  แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ต้องปิดบาดแผล  ยกเว้นบาดแผลที่เท้าซึ่งควรปิดด้วยผ้ากอซสะอาด  เพื่อป้องกันฝุ่นละออง
                4.  ระวังอย่าให้บาดแผลถูกน้ำ
                5.  ไม่ควรแกะหรือเกาบาดแผลที่แห้งตกสะเก็ดแล้ว  เพราะทำให้เลือดไหลอีก  สะเก็ดแผลเหล่านั้นจะแห้งและหลุดออกเอง
                2.  แผลตัด
                เกิดจากถูกของมีคมบาดลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง  เช่น  มีดบาด  กระจกบาด  ฝากระป๋อง  เป็นต้น  อาจเป็นบาดแผลตื้นๆ  หรือบาดแผลตัดลึกก็ได้  ซึ่งถ้าถูกเส้นเลือดใหญ่จะมีเลือดไหลออกมา
                การปฐมพยาบาลเมื่อมีแผลตัด
                1.  ถ้าบาดแผลตัดเป็นบาดแผลตื้น  ควรห้ามเลือดโดยใช้นิ้วสะอาดหรือผ้าจดบนบาดแผลจนเลือดหยุดไหล
                2.  เมื่อเลือดหยุดไหลแล้วให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด  แล้วใส่ยาแดงหรือทิงเจอร์ใส่แผลสด
                3.  รวบขอบบาดแผลที่ตัดเข้าหากันแล้วปิดด้วยปลาสเตอร์
                4.  ระวังอย่าให้แผลถูกน้ำ 2-3 วัน  รอยแยกของแผลตัดจะติดกันสนิท
                5.  ในกรณีที่แผลลึกและยาวซึ่งต้องเย็บแผล  ควรห้ามเลือดแล้วปิดแผลด้วยผ้าสะอาด  แล้วรีบนำผู้บาดเจ็บส่งแพทย์
                3.  แผลฉีกขาด
                เกิดจากถูกของแข็งกระแทกอย่างแรงทำให้เนื้อเยื่อและผิวหนังฉีกขาด  ขอบแผลจะเป็นรอยกะรุ่งกะริ่ง  บางตอนตื้น  บางตอนลึก  ไม่เรียบเสมอกันและจะมีเลือดออกมาก  เช่น  แผลถูกรถชน  แผลถูกระเบิด  แผลถูกสุนัขกัดกระชาก  เป็นต้น  แผลชนิดนี้มีเนื้อเยื่อถูกทำลายมากกว่าแผลตัดบาดแผลมักกว้าง  เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลได้ง่าย
                การปฐมพยาบาลเมื่อมีแผลฉีกขาด
                1.  บาดแผลฉีกขาดที่มีเลือดไหลออกมาก  ควรรีบห้ามเลือดโดยเร็ว  โดยใช้ผ้าสะอาดที่มีความนุ่มและหนาพอสมควรกดลงบนบาดแผล  หากเลือดยังไม่หยุดไหลแสดงว่าเส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด  ควรห้ามเลือดโดยวิธีการกดเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณนั้นร่วมกับการใช้ผ้ากดห้ามเลือด
                2.  เมื่อเลือดหยุดไหลแล้ว  ให้ทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ แผลด้วยน้ำสะอาด  แล้วปิดแผลด้วยผ้ากอซ  แล้วใช้ปลาสเตอร์หรือผ้าพันแผลพันรอบให้แน่นพอสมควร
                3.  นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล  เพื่อให้ตกแต่งบาดแผลด้วยวิธีที่ถูกต้องต่อไป
                4.  แผลถูกแทงหรือยิง
                เกิดจากการถูกของแข็งทิ่มแทงทะลุเข้าไปใต้ผิวหนัง  ขนาดของแผลมักเล็กแต่ลึก  มีเลือดออกมาภายนอกไม่มาก  แต่มีเลือดตกภายใน  เพราะอวัยวะภายในบางส่วนอาจฉีกขาดจากการถูกแทงหรือยิง  บางครั้งอาจเสียชีวิตได้  เช่น  ถูกมีดแทง  ถูกตะปูตำ  ถูกยิงด้วยกระสุนปืน  เป็นต้น
                การปฐมพยาบาลเมื่อมีบาดแผลถูกแทงหรือยิง
                1.  แผลถูกแทงหรือยิงส่วนใหญ่เป็นบาดแผลฉกรรจ์และอันตรายมากควรนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
                2.  ระหว่างทาง  ควรช่วยห้ามเลือดที่ไหลออกมาภายนอกโดยใช้ผ้าสะอาดกดบนแผล  ส่วนเลือดที่ออกภายในซึ่งเรามองไม่เห็นนั้น  อาจใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบรอบ ๆ แผลเพราะความเย็นจะช่วยให้เลือดไหลช้าลง
                3.  สังเกตอาการผู้ป่วย  ถ้าพบว่าหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วให้ผายปอดทันที  หรือหัวใจหยุดเต้นหรือแผ่วเบา  ให้รีบนวดหัวใจร่วมกับการผายปอด

อุปกรณ์ปฐมพยาบาล

  1. สำลี
  2. ผ้ากอซแผ่นชนิดฆ่าเชื้อ ทำความสะอาด (แอลกอฮอล์)
  3. คีมสำหรับบ่งเสี้ยน
  4. ผ้าสามเหลี่ยม
  5. ผ้ากอซพันแผลขนาดต่าง ๆ
  6. กรรไกรขนาดกลาง
  7. เข็มกลัดซ่อนปลาย
  8. แก้วล้างตา
  9. พลาสเตอร์ม้วน ชิ้น
  10. ผ้ายืดพันแก้เคล็ดขัดยอก ( Elsatic bandage)
  11. ผ้ากอซชุลพาราฟินสำหรับแผลไฟไหม้

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คลิปแสดงวิธีการเข้าเฝือก 1

คลิปแสดงวิธีการเข้าเฝือก 2


 การเข้าเฝือก

  การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่เกี่ยวกับกระดูกหักที่เกิดขึ้นกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายนั้นหลักสำคัญเพื่อต้องการไม่ให้กระดูกส่วนนั้นเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวน้อยที่สุดและเป็นการป้องกันมิให้เพิ่มอาการรุนแรงขึ้นเช่นกระดูกหักธรรมดาแต่ถ้าจับพลิกบิดรุนแรงหรือปล่อยไว้ไม่เข้าเฝือก อาจจะเพิ่มเป็นกระดูกทิ่มทะลุผิวหนังเป็นบาดแผลออกมาข้างนอกเป็นต้นดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือโดยการเข้าเฝือกอย่างระมัดระวัง เพื่อนำส่งแพทย์ต่อไป

ชนิดของเฝือก

1. เฝือกธรรมชาติ คือ เฝือกที่มีอยู่แล้วในตัวผู้ป่วย ได้แก่ อวัยวะหรือกระดูกที่อยู่ใกล้เคียงกับกระดูกที่หักนั้น ใช้เป็นเฝือกชั่วคราวไปก่อนจนกว่าจะถึงมือแพทย์ เช่น กระดูกแขนหักก็ใช้ทรวงอกเป็นเฝือก โดยพันให้ต้นแขนนั้นติดแนบกับลำตัวไว้ แล้วนำส่งโรงพยาบาล

2. เฝือกชั่วคราว คือ เฝือกที่หาได้จากวัสดุที่ง่าย ในบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น แผ่นกระดาน ไม้บรรทัด ไม้ถือ ด้ามไม้กวาด คันร่มหรือกิ่งไม้

เป็นต้น

3. เฝือกสำเร็จรูป คือ เฝือกที่ทำไว้แล้วสามารถนำมาใช้ได้เลย อาจทำด้วยไม้หรือเหล็ก แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุกระทันหันอาจหาไม่ได้

 

วิธีการเข้าเฝือกชั่วคราว

1. สำรวจดูว่า กระดูกส่วนไหนหักโดยการจับดูด้วยความระมัดระวัง อย่าจับพลิกหรือบิด เพราะจะทำให้อาการหักรุนแรงขึ้น

2. ให้หาวัสดุที่อยู่ใกล้ตัวที่สามารถใช้ทำเฝือกได้พอดีกับอวัยวะส่วนนั้น ๆ รวมทั้งความสะดวกและปลอดภัยด้วย

3. ก่อนจะวางเฝือกลงบนอวัยวะส่วนที่กระดูกหัก ให้ใช้ผ้าหรือสำลีวางลงบนอวัยวะส่วนนั้นก่อนให้ทั่วตลอดแนวเฝือก เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เฝือกกดลงบนผิวหนังโดยตรงซึ่งจะทำให้เจ็บปวดหรือเกิดเป็นบาดแผลขึ้นได้

4. ให้ใช้ผ้าหรือเชือกมัดเฝือกนั้น แต่ต้องไม่ให้แน่นหรือตึงจนเกินไป จะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและเป็นอันตรายได้